1/18/2555

ประเพณีปอยส่างลอง


จังหวัด แม่ฮ่องสอน
ช่วงเวลา
ะหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ระยะเวลา ๓-๗ วัน โดยทั่วไปนิยมจัดงาน ๓ วัน
ความสำคัญ
"ปอยส่างลอง" เป็นงานประเพณีบวชลูกแก้วของไทยใหญ่ เป็นการบรรพชาสามเณรให้สืบทอดพระพุทธศาสนา และเพื่อเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยมีความเชื่อว่า ถ้าได้บวชให้ลูกของตนเป็นสามเณรจะได้อานิสงฆ์ ๘ กัลป์ บวชลูกคนอื่นเป็นสามเณรได้อานิสงฆ์ ๔ กัลป์ และหากได้อุปสมบทลูกของตนเป็นพระภิกษุสงฆ์ จะได้อานิสงฆ์ ๑๒ กัลป์ และได้อุปสมบทลูกคนอื่นจะได้อานิสงฆ์ ๘ กัลป์ และเพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีที่มีมาดั้งเดิม
พิธีกรรม
มี ๒ วิธีคือ แบบที่เรียกว่า ข่ามดิบ และแบบที่เรียกว่า ส่างลอง
๑. แบบข่ามดิบเป็นวิธีการแบบง่าย ๆ คือ พ่อแม่จะนำเด็กไปโกนผมที่วัดหรือที่บ้าน เสร็จแล้วนุ่งขาวห่มขาว เตรียมเครื่องไทยทานอัฐบริขารไปทำพิธีบรรพชาเป็นสามเณรที่วัด พระสงฆ์ประกอบพิธีให้ก็เป็นสามเณร
๒. แบบส่างลอง เป็นวิธีที่จัดงานกันใหญ่โตนิยมกันมากแบ่งวันจัดงานเป็น ๓ วัน คือ
วันแรก เรียกว่า วันรับส่างลองในตอนเช้านำเด็กที่โกนหัวแล้วไปแต่งชุดส่างลอง คล้ายเจ้าชายไทยใหญ่รับศีล นำส่างลองแห่ขอขมาศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ขอขมาพระสงฆ์ที่วัดและญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพรักใคร่ชอบพอ ตลอดทั้งวันและนำส่างลองกลับไปรับประทานอาหารพักผ่อนที่บ้านเจ้าภาพ
วันที่สอง เป็นวันแห่เครื่องไทยทานทำในตอบเช้ามีขบวนแห่เครื่องไทยทานและส่างลองไปที่วัด เลี้ยงอาหารผู้มาร่วมขบวนแห่ และมีการทำขวัญส่างลอง เลี้ยงอาหารมื้อพิเศษมีอาหาร ๑๒ อย่าง แก่ส่างลองด้วย
วันที่สาม เป็นวันบรรพชาสามเณร ตอนบ่ายแก่แห่ส่างลองไปที่วัดและทำพิธีบรรพชา และอาจมีจุดบั้งไฟเป็นการเฉลิมฉลองด้วย

สาระ
๑. ผู้ที่ผ่านการบรรพชาเป็นสามเณรจะได้รับการยกย่องเรียกคำว่า ส่าง นำหน้าชื่อตลอดไป
๒. ผู้ที่ผ่านการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์จะได้รับยกย่องเรียกคำว่า หนาน นำหน้าชื่อตลอดไป
๓. บิดาที่จัดบรรพชาให้ลูกเป็นสามเณร จะได้รับยกย่องเรียกคำว่าพ่อส่าง นำหน้าชื่อตลอดไป
๔. มารดาที่ได้จัดบรรพชาให้ลูกเป็นสามเณรจะได้รับยกย่องเรียกคำว่าแม่ส่าง นำหน้าชื่อตลอดไป
๕. บิดาที่จัดบรรพชาลูกเป็นพระภิกษุจะได้รับยกย่องเรียกคำว่า พ่อจาง นำหน้าชื่อตลอดไป
๖. มารดาที่จัดบรรพชาลูกเป็นพระภิกษุ จะได้รับยกย่องเรียกคำว่า แม่จาง นำหน้าชื่อตลอดไป
๗. การจัดงานปอยส่างลอง เป็นการสืบทองพระพุทธศาสนา และก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ท่านสามารถแสดงข้อคิดเห็นที่เหมือน หรือ แตกต่างได้ครับ ขอความกรุณาใช้ถ้อยคำที่สุภาพด้วยครับ ขอบคุณครับ